Hormones Imbalance
ฮอร์โมนไม่สมดุล
ฮอร์โมนที่สมดุลคือกุญแจสำคัญสู่การชะลอวัย
ฮอร์โมนมีความสำคัญต่อร่างกายของเราทุกคน และเกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงานในร่างกายเราทุกระบบ ฮอร์โมนเป็นสารชีวเคมีที่ร่างกายเราสร้างขึ้น ทำหน้าที่ที่แตกต่างกันในหลายระบบ และทำงานตั้งแต่เราเกิดจนกระทั่งเราตายไป บริเวณหรืออวัยวะที่สร้างฮอร์โมนต่างๆเหล่านี้มีหลายตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นบริเวณต่อมใต้สมอง ต่อมไทรอยด์ ตับอ่อน ต่อมหมวกไต หรือแม้แต่บริเวณที่เรารู้จักกันดี ก็คือ อัณฑะและรังไข่ เราเรียกรวมๆ กันว่า ต่อมไร้ท่อนั่นเอง
Treatment แนวทางการรักษา
การเพิ่มระดับฮอร์โมนนร่างกายสามารถทำได้โดย:
- ปรับพฤติกรรมทางด้านสุขภาพให้เหมาะสม
-รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงโดยเฉพาะกลุ่มไขมันทรานซ์
- เลือกรับประทานไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกายในกลุ่มโอเมก้า 3-6-9 เน้นการบริโภคเมล็ดธัญพืช ผักและผลไม้ที่หลากหลายเพื่อเพิ่มเส้นใยอาหาร
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ดื่มน้ำอย่างน้อย 2-3 ลิตรต่อวัน
- พักผ่อนอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ให้ได้อย่างน้อย 4-5 ครั้งต่อสัปดาห์
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์
- ควรพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพประจำปี
สาเหตุ
ช่วงวัยหนุ่มสาวเป็นช่วงเวลาที่ชีวิตสนุกอย่างเต็มที่ ทั้งการใช้ชีวิต การรับประทานอาหาร การดื่มสังสรรค์ จึงนับเป็นช่วงวัยที่มีความสำคัญต่อสุขภาพ สิ่งที่คุณอาจคาดไม่ถึงคือภาวะฮอร์โมนขาดความสมดุล ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงวัยนี้
ระดับของสมดุลฮอร์โมนจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงได้ตั้งแต่อายุประมาณ 25 ปีขึ้นไป และเมื่อความสมดุลของฮอร์โมนเสียไปก็อาจก่อให้เกิดภาวะหรืออาการผิดปกติบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระดับฮอร์โมนได้ ดังนั้นการตรวจวัดระดับฮอร์โมนสามารถเริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุ 25 ปีขึ้นไป นอกจากนี้แล้วผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดการลดลงของฮอร์โมนในร่างกายได้เร็วกว่าปกติ คือ บุคคลที่ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสมลพิษจากสิ่งแวดล้อม, ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ รับประทานอาหารที่ไม่ถูกสัดส่วนทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร พร่องวิตามิน, ขาดการออกกำลังกายที่เหมาะสม หรือแม้กระทั่งในบุคคลที่มีการพักผ่อนนอนหลับไม่เพียงพอก็จะส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนบางชนิดได้ในปริมาณที่ไม่เหมาะสมและทำให้สมดุลของฮอร์โมนภายในร่างกายเสียไป
หากฮอร์โมนมีความผิดปกติ เราอาจแสดงอาการผิดปกติอะไรบางอย่างออกมา เช่น
รอบเดือนผิดปกติ ปกติแล้วผู้หญิงจะมีรอบเดือนทุกๆ 21-35 วัน แต่หากรอบเดือนมาบ่อยเกินไป หรือประจำเดือนขาด นั่นก็หมายความว่าเรามีฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือฮอร์โมนโปรเจสโตรโรน ที่เป็นตัวควบคุมการมาของประจำเดือนมาก หรือน้อยเกินไป
นอนไม่หลับ หรือหลับยาก นอกจากฮอร์โมนเมลาโทนินที่มีส่วนช่วยให้นอนหลับได้สบายขึ้นแล้ว ยังมีฮอร์โมนโปรเจสโตรโรน ที่ผลิตออกมาจากรังไข่ที่ช่วยให้คุณผู้หญิงนอนหลับได้สบายมากขึ้น หากฮอร์โมนหนึ่งในสองชนิดนี้มีปริมาณต่ำกว่าปกติ ก็จะส่งผลต่อการนอนหลับได้เช่นกัน
ถ้ามีฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เป็นฮอร์โมนเพศหญิงชนิดนี้ต่ำกว่าปกติ ก็อาจทำให้คุณผู้หญิงรู้สึกร้อนวูบวาบ หนาวๆ ร้อนๆ หรือมีเหงื่อออกตอนกลางคืน ทำให้รบกวนการนอนหลับได้
สิวขึ้นมากผิดปกติ สิวฮอร์โมนที่ขึ้นเป็นเม็ดๆ บนใบหน้าก่อนมีประจำเดือนเป็นเรื่องปกติ แต่หากมีสิวขึ้นเป็นประจำไม่หายขาดเสียที อาจมีปัญหาที่ฮอร์โมนแอนโดรเจน ที่หากมีปัญหาจะส่งผลให้ต่อมไร้ท่อ และต่อมไขมันที่เซลล์ของผิวหนัง และรูขุมขนทำงานผิดปกติ จึงทำให้เกิดการอุดตันจนกลายเป็นสิวได้
หลงๆ ลืมๆ ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าหากฮอร์โมนเอสโตรเจนมีความผิดปกติ จะส่งผลกระทบต่อการควบคุมในสมอง และสารด้านสื่อประสาท ซึ่งมีผลต่อสมาธิ และความจำด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงใกล้หมดประจำเดือน จะมีอาการหลายอย่างที่เชื่อมโยงกับระดับฮอร์โมนและต่อมไทรอยด์ ทำให้การทำงานของสมองอาจไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่เหมือนช่วงเวลาอื่นๆ
ปวดท้อง ไม่ใช่อาการปวดท้องทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน แต่เป็นอาการปวดท้องบริเวณท้องน้อยที่เกิดขึ้นก่อน หรือระหว่างมีประจำเดือนของคุณผู้หญิงนั่นเอง หากปวดประจำเดือนมากๆ จนทนไม่ไหว ปวดท้องจนหน้าซีด และในบางครั้งยาแก้ปวดประจำเดือนก็เอาไม่อยู่ แบบนี้อาจส่งผลมาจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ผิดปกติ
เมื่อยล้า อ่อนเพลียอยู่ตลอดเวลา เมื่อฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์มีจำนวนน้อยลง อาจส่งผลให้ร่างกายเหนื่อยล้า และพลังงานลดลง
เครียด อารมณ์แปรปรวน ฮอร์โมนแปรปรวน หรือ Hormone Swing นอกจากอารมณ์หงุดหงิดโมโหง่ายแล้ว ฮอร์โมนเอสโตรเจนยังเป็นกุญแจสำคัญที่ส่งผลต่อสมองและอารมณ์อีกด้วย
น้ำหนักเพิ่มขึ้น จะบอกว่าอ้วนขึ้นเพราะฮอร์โมนผิดปกติก็เป็นไปได้ เพราะเมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนน้อยลง เราก็จะรู้สึกอยากอาหารมากขึ้น ต่อมความหิวก็เริ่มทำงานมากขึ้น จึงทำให้ผู้หญิงหลายคนอยากทานอาหารจุกจิกมากขึ้นจนน้ำหนักเพิ่มขึ้นนั่นเอง
ความต้องการทางเพศลดลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ ฮอร์โมนที่ควบคุมเรื่องความต้องการทางเพศของเพศชายคือฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน แต่ในเพศหญิงเองก็มีฮอร์โมนนี้ด้วยเช่นกัน หากระดับของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนน้อยเกินไป อาจส่งผลให้มีความต้องการทางเพศลดลงได้