top of page

Thrive Wellness Clinic

  • Facebook
  • YouTube
  • Instagram

ชั้น2 เดอะ คริสตัล เอกมัย-รามอินทรา 
เวลาเปิดทำการ 10:00 -19:00 

thrive-clinic.png

ประจำเดือนเคลื่อน ไม่มาตามนัด ปวดท้องประจำเดือน ต้องไปหาหมอหรือไม่?




ประจำเดือนกับผู้หญิงเป็นของคู่กัน และหนึ่งในฝันร้ายที่ตามมาของสาวๆ ส่วนใหญ่ก็คือ 'ปวดท้องประจำเดือน' หรือปวดท้องเมนส์ จนหลายคนเข้าใจว่าการปวดท้องเมนส์นี้เป็นเรื่องปกติ บางคนอาจมีอาการปวดถึงขั้นต้องหยุดงาน หรือหยุดเรียน หรือปวดถึงขนาดที่ไม่สามารถนอนหลับได้ บางคนปวดไม่มากจึงมองข้ามปัญหานี้ไป แต่รู้ไหมว่าไม่ว่าจะเป็นการปวดท้องมากน้อยแค่ไหน ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายที่จะตามมาได้


อาการปวดท้องประจำเดือนเกิดจากการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูก จากการหลั่งสารที่ชื่อว่าพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ซึ่งจะเข้าไปกระตุ้นให้มดลูกมีการบีบตัวและหดเกร็ง ทำให้เยื่อบุมดลูกหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน โดยปกติผู้หญิงจะมีอาการปวดท้องน้อยก่อนประจำเดือนมา 1-2 วัน และมีอาการปวดในช่วงประจำเดือนมาแล้ว 2-3 วันแรก โดยลักษณะเป็นอาการปวดบีบหรือปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย ถ้ามีอาการมากอาจปวดร้าวไปหลัง หรืออาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ ท้องเสีย ท้องอืด



รอบประจำเดือน ที่ถือว่าปกติอยู่ คือเคลื่อนเข้าหรือออกไม่เกิน 7วัน หรืออยู่ในช่วง 21-35วัน ในแต่ละช่วงอายุ ลักษณะประจำเดือนอาจแตกต่างกันได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเมื่อ 3 ปีก่อน ประจำเดือนมาทุก 25 วัน แต่ตอนนี้มาช้าลง เป็นทุก 35วัน ถ้ายังมาสม่ำเสมอ ไม่มีเลือดออกระหว่างรอบเดือน “ถือว่าปกติ” อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องคำนึงเป็นอย่างแรกเมื่อประจำเดือนไม่มาตามปกติ ก็คือ “เรามีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์รึเปล่า” ในวัยที่มีประจำเดือน หากมีเพศสัมพันธ์ก็อาจตั้งครรภ์ได้ (ต้องอย่าลืมว่าการคุมกำเนิด ไม่ว่าวิธีใดก็ไม่ได้คุมได้ 100%) ดังนั้นจึงควรตรวจการตั้งครรภ์ก่อน หากไม่ตั้งครรภ์ ถึงจะไปพิจารณาสาเหตุอื่น ๆ



สาเหตุของการปวดท้องประจำเดือน

  • สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของประจำเดือนไม่มาก็คือภาวะฮอร์โมนที่ไม่ปกติ เป็นได้ตั้งแต่สาเหตุง่ายๆ เช่น มีภาวะเครียด ออกกำลังกายหักโหม น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างรวดเร็ว พักผ่อนไม่เพียงพอ มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง หรือการได้รับฮอร์โมนมาก่อนหน้านี้ เช่น การใช้ยาคุมฉุกเฉิน หรือการกินยาคุมต่อเนื่องนานๆประจำเดือนอาจมาน้อยลงได้ การฉีดยาคุม ก็จะทำให้ไม่มีประจำเดือนได้

  • ภาวะหนึ่งที่พบได้บ่อยก็คือ ภาวะการไม่ตกไข่เรื้อรัง (Anovulation) ซึ่งพบได้ใน PCOS หรือ ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ มักจะมาด้วยอาการประจำเดือนไม่มา สิวขึ้น หน้ามัน ขนดก




การปวดประจำเดือนเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุด้วยกัน แบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน

  1. ปวดแบบปฐมภูมิ (Primary Dysmenorrhea) คืออาการปวดแบบทั่วไป พบได้บ่อยที่สุด มักมีสาเหตุมาจาก เยื่อบุโพรงมดลูกผลิตสารโพรสตาแกลนดิน มากจนเกินไป

  2. ปวดแบบทุติยะภูมิ (Secondary Dysmenorrhea) อาการปวดประเภทนี้มีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพ ภาวะผิดปกติของมดลูก หรืออวัยวะสืบพันธุ์อื่นๆ เช่น

    1. ถุงน้ำในรังไข่ (Polycystic Ovary Syndrome) เป็นความผิดปกติของระดับฮอร์โมนทำให้เกิดถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ ทำให้มีประจำเดือนที่ผิดปกติ เช่น ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนมานานกว่าปกติ เป็นต้น

    2. ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ เกิดการติดเชื้อ มักเกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยจะติดเชื้อที่มดลูก ท่อนำไข่ และรังไข่ หากไม่ได้รับการรักษาจะส่งผลให้เกิดการอักเสบและมีอาการปวดท้องในขณะที่มีประจำเดือนได้

    3. เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) หรือ ช็อคโกแลตซีสท์ ภาวะนี้จะทำให้ปวดท้องมาก โดยจะมีอาการติดต่อกันนานกว่า 6 เดือน ซึ่งอาจส่งผลกระทบทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้ด้วย

    4. เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก (Myoma uteri)

    5. เยื่อบุมดลูกเจริญภายในกล้ามเนื้อมดลูก (Adenomyosis)

    6. ปากมดลูกตีบ ทำให้ขัดขวางการไหลของเลือดประจำเดือน และเกิดแรงดันภายในมดลูกมาก ก่อให้เกิดอาการปวดประจำเดือน และประจำเดือนมาไม่ปกติ



วิธีบรรเทาอาการปวดประจำเดือนแบบไม่ต้องกินยา

  • ออกกำลังกาย สาวๆ ทุกคนสามารถออกกำลังกายได้ขณะมีประจำเดือน เช่น การเดินเร็ว หรือ เล่นโยคะในท่าง่ายๆ ซึ่งการออกกำลังกายจะช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้ดี

  • ประคบร้อน โดยความร้อนมีส่วนช่วยให้กล้ามเนื้อรู้สึกผ่อนคลาย ทำให้อาการปวดประจำเดือนลดลง รวมไปถึงการจิบเครื่องดื่มอุ่น ๆ เช่น น้ำผึ้งผสมมะนาว หรือน้ำขิง จะช่วยปรับให้ภายในร่างกายอุ่นขึ้นด้วย

  • เน้นทานแมกนีเซียม เพราะมีส่วนช่วยในเรื่องลดอาการปวดเกร็งในช่องท้อง โดยอาหารที่เหมาะสำหรับช่วงมีประจำเดือน เช่น ผักโขม ตำลึง หรือกล้วย เป็นต้น

  • นวดบริเวณท้องน้อย เป็นวิธีที่ช่วยกล้ามเนื้อบริเวณท้องให้ผ่อนคลายลง สามารถทำได้โดยการนวดวนเป็นวงกลมบริเวณท้องน้อย



บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย


留言


bottom of page