โดยปกติฮอร์โมนจะมีที่หน้าที่สำคัญสำหรับควบคุมการทำงานของระบบและอวัยวะภายในร่างกาย นั่นหมายความว่าหากฮอร์โมนของคุณมีปริมาณที่มากหรือน้อยจนเกินไปจนเกิดความไม่สมดุล จะส่งผลเสียต่อร่างกายหลายๆอย่าง เช่น ผิวโทรม ผิวมีริ้วรอย ประจำเดือนมาไม่ปกติ อารมณ์แปรปรวน ระดับพลังงานลดลง คุณภาพการนอนลดลง และรวมไปถึงภาวะมีบุตรยาก ดังนั้นคุณผู้หญิงทั้งหลายควรให้ความสำคัญกับการรักษาระดับของฮอร์โมนให้สมดุลอยู่เสมอ
ฮอร์โมนไม่สมดุลส่งผลให้ดูแก่กว่าวัยอย่างไร 5 วิธีปรับสมดุลฮอร์โมนเพศหญิง สัญญาณเตือนระดับฮอร์โมนไม่สมดุล
ฮอร์โมนหลักๆที่สำคัญของผู้หญิง
ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมหมวกไตและรังไข่ มีหน้าที่ในการผลิตเซลล์ไข่ การตกไข่ การสร้างตกขาว การสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกเพื่อรองรับการฝังตัวของตัวอ่อน และยังช่วยควบคุมการมีประจำเดือน รักษาสภาวะทางอารมณ์ เสริมสร้างกระดูก กระตุ้นคอลลาเจนในชั้นผิว
ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) สร้างขึ้นสร้างจากต่อมหมวกไตและรังไข่ เหมือนกันกับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) โดยจะมีหน้าที่ที่คล้ายกันในการควบคุมการตกไข่และมีประจำเดือน แต่จะแตกต่างกันตรงที่ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะส่งผลในด้านสรีระมากกว่าเช่น ผิวเนียนนุ่ม, มีหน้าอก มีทรวดทรงเอวคอด และในด้านของอารมณ์ที่ส่งผลให้เกิดความเรียบร้อย อ่อนหวาน อ่อนไหวง่าย ตามสไตล์ผู้หญิง
ฮอร์โมน FSH (Follicular stimulating hormone) ถูกสร้างมาจากต่อมใต้สมองส่วนหน้า (Anterior Pituitary) หรืออะดิโนไฮโปไฟซิส (Adenohypophysis) โดยทำหน้าที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของไข่ ส่งผลต่อการเป็นประจำเดือน และการตั้งครรภ์
ฮอร์โมน LH (Luteinizing hormone) ถูกสร้างขึ้นที่ต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) มีหน้าที่กระตุ้นให้ไข่ตกในทุกๆรอบเดือน โดยฮอร์โมน LH จะหลั่งออกมาในช่วงที่ไข่สมบูรณ์แล้ว (หลังการหลั่งของฮอร์โมน FSH) ฮอร์โมน LH จะทำให้ไข่สุกเพื่อรอการปฏิสนธิจากอสุจิ และยังมีผลต่อการหลั่งของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่ส่งผลให้เกิดประจำเดือนอีกด้วย
ฮอร์โมนไม่สมดุลส่งผลให้ดูแก่กว่าวัยอย่างไร
ฮอร์โมนเป็นปัจจัยหลักสำคัญที่มีผลต่อระบบการทำงานของร่างกาย โดยเฉพาะโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ที่จะเข้าไปช่วยกระตุ้นการสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย และยังเป็นฮอร์โมนสำคัญของความอ่อนวัย ช่วยฟื้นฟูร่างกายให้คงความอ่อนเยาว์ไว้ให้ได้นานที่สุด เมื่ออายุเริ่มเข้า 35 ปี ร่างกายจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ที่เห็นเด่นชัดสุดก็คือผิวพรรณ จะเริ่มรู้สึกผิวแห้งกร้าน ผิวหยาบ มีริ้วรอยบนใบหน้า ริ้วรอยตาข้อพับ เส้นคอ ข้อมือ ผิวไม่ชุ่มชื่น และจะทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า นอนไม่หลับ ระบบเผาผลาญทำงานได้น้องลงอีกด้วย
5 วิธีปรับสมดุลฮอร์โมนเพศหญิง
1. พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง หากนอนไม่พอจะทำให้เกิดความเครียดสะสม ส่งผลให้ฮอร์โมนความเครียด หรือ ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) จะถูกหลั่งออกมามากเกินไป และไปรบกวนการทำงานของฮอร์โมนเพศจนเกิดความไม่สมดุล และยังส่งผลต่อการสร้างฮอร์โมน Luteinizing Hormone (LH) ที่จะหลั่งออกมาในช่วงที่จะมีการตกไข่ ทำให้ตกไข่ผิดปกติส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติเช่นกัน
2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 วัน เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนได้ เช่น วิ่งเหยาะๆ เต้นแอโรบิก โยคะ ไทเก๊ก เป็นต้น
3. ปรับโภชนาการอาหาร อาหารช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนได้ หากกินแต่อาหารไขมันสูง น้ำตาล ของหวาน แอลกอฮออล์ สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อฮอร์โมนที่ผิดปกติ โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีปัญหาเรื่องประจำเดือน จำเป็นต้องหันมาทานอาหารที่ช่วยบำรุงเลือด กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และช่วยปรับสมดุลฮอร์โมน ได้แก่
เพิ่มโปรตีน ควรเลือกทานโปรตีนสัตว์ที่มีแหล่งโปรตีนชั้นดีและไม่ติดมัน เช่น ไข่ เนื้อปลา อกไก่ หรือ นมแพะ ถั่วเหลือง อัลมอนด์ งาดำ ควินัว เมล็ดฟักทอง
ลดคาร์โบไฮเดรต การทานอาหารแบบลดคาร์บประเภท Refined Carb ลง ช่วยลดระดับอินซูลิน ส่งผลต่อฮอร์โมนที่สมดุล การตกไข่เป็นปกติขึ้น ได้แก่ ข้าวกล้อง ควินัว อัลมอนด์ แฟล็กซีด และลูกเดือย งาดำ เมล็ดฟักทอง
4. ลดภาวะเครียดสะสม เมื่อเกิดความเครียดร่างกายจะสร้างฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) เพื่อไปจัดการความเครียด และเมื่อใช้ฮอร์โมนคอร์ติซอลมากเกินไป ร่างกายจะดึงฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ( Progesterone) มาใช้ จึงส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรือมาไม่ปกติ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อฮอร์โมนต่อมหมวกไตอย่าง DHEAs ซึ่งเป็นฮอร์โมนตั้งต้นในการนำไปสร้างฮอร์โมนตัวอื่นๆในร่างกาย ทำให้มีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ไม่สดชื่น หรือมีอารมณ์แปรปรวน
5. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้นิโคติน (Nicotine) เข้าไปขัดขวางการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ทำให้รังไข่ผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนออกมาได้น้อยลง ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล บุหรี่ยังทำให้ผิวหมองคล้ำ โดยเฉพาะริมฝีปากดำคล้ำ และนิ้วมือ(ที่สัมผัสบุหรี่) รวมถึงทำให้เกิดริ้วรอบก่อนวัยอีกด้วย
สัญญาณเตือนระดับฮอร์โมนไม่สมดุล
ผิวพรรณแห้งกร้าน ผมร่วง
ดูแก่กว่าวัย
สิวขึ้นเยอะมากขึ้น
ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรือมาไม่ปกติ
นอนหลับยาก หรือนอนไม่หลับ
อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
มีความเครียดสะสมสูง
มีอาการหลงลืม
เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
ความต้องการทางเพศลดลง
การปรับสมดุลฮอร์โมนเพศข้างต้นเป็นเพียงการปฏิบัติขั้นพื้นฐาน ที่จะไปช่วยส่งเสริมการทำงานของฮอร์โมนให้กลับมาปกติ แต่หากท่านใดลองปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าวแล้วยังไม่มีความเปลี่ยนแปลง ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวัดระดับฮอร์โมนในร่างกาย หากมีความผิดปกติแพทย์จะวิเคราะห์และแนะนำวิธีการรักษาได้อย่างเหมาะสม เพื่อการส่งเสริมให้ฮอร์โมนกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
Comentarios